เหล็กคืออะไร?
"เหล็ก" เป็นคำที่คนไทยทั่วไปนิยมใช้เรียกเหมารวมกันหมายถึง เหล็ก (iron) และ เหล็กกล้า (steel) ซึ่งในความเป็นจริงนั้น วัสดุทั้ง 2 อย่างนี้ไม่เหมือนกันหลายประการ อย่างไรก็ดี เหล็กเป็นวัสดุพื้นฐานที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาสังคมและความเป็นอยู่ของมนุษย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและต่อไปในอนาคตอีกนานแสนนาน
เหล็ก (Iron) เป็นสิ่งที่มนุษย์เรารู้จักนำมาใช้ประโยชน์มาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ซึ่งในยุคแรกๆ มักจะเป็นการใช้ก้อนหินที่มีแร่เหล็ก (Fe) ปะปนอยู่ มาฝนให้แหลมคมเพื่อใช้ทำเป็นอาวุธในการต่อสู้และล่าสัตว์ ต่อมาเมื่อมนุษย์มีความรู้มากขึ้นก็รู้จักใช้กรรมวิธีการ "ถลุง" ด้วยการเผาให้แร่เหล็กหลอมเป็นของเหลวและกำจัดแร่อื่นๆ ที่ไม่ต้องการออกไปทำให้ได้แร่เหล็กที่บริสุทธิ์มากขึ้น และคิดค้นผลิตให้เป็น "เหล็กกล้า" (Steel) หรือ "เหล็กกล้าคาร์บอน" (Carbon Steel) ด้วยการเพิ่มส่วนผสมด้วยธาตุคาร์บอน (C), แมงกานีส (Mn), ซิลิคอน (Si), และธาตุอื่นๆ อีกบางส่วน เพื่อปรับปรุงเหล็ก (Fe/iron) ให้มีคุณสมบัติโดยรวมดียิ่งขึ้น สามารถแปรเปลี่ยนรูปได้ตามที่ต้องการ มีความแข็งแรง, ยืดหยุ่น, ทนทานต่อแรงกระแทก, สามารถรับน้ำหนักได้มาก, ไม่ฉีกขาดหรือแตกหักง่าย แถมด้วยคุณสมบัติพิเศษคือสามารถรีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100%
เมื่อมนุษย์คิดค้นประดิษฐ์ได้เหล็กกล้าที่มีคุณสมบัติต่างๆ ที่เราต้องการแล้ว ก็นิยมนำมาใช้ประโยชน์ด้วยการหล่อให้เป็นรูปร่างต่างๆ เช่นดาบ, โล่, และบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ในสมัยโบราณ ต่อมาก็เรียนรู้ที่จะแปรรูปเหล็กกล้าให้เป็นรูปร่างต่างๆ ด้วยการรีดให้เป็นแผ่น เพื่อให้สามารถนำไปพับ, ม้วน, เชื่อม, กระแทก, กด, หรือขึ้นรูปและอื่นๆ เพื่อให้ตรงตามความต้องการ
เนื่องจากเหล็กเป็นวัตถุดิบที่เราสามารถผลิตและแปรรูปเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการใช้ที่หลากหลายของเรา มีกระบวนการผลิตที่แตกต่างหลากหลายสำหรับรูปแบบต่างๆ อีกทั้งต้นทุนการผลิตเหล็กในแต่ละขั้นตอนก็สูง ทำให้ผู้ผลิตเหล็กแต่ละราย จะเลือกทำงานเฉพาะที่ตัวเองมีความรู้ความถนัดเท่านั้น ไม่มีใครสามารถผลิตสินค้าเหล็กได้ครบทุกรูปแบบ ทุกขั้นตอนได้
อุตสาหกรรมเหล็กจะเริ่มต้นด้วยการนำสินแร่เหล็กที่ขุดได้จากในเหมือง มาถลุงเป็น "หล็กขั้นต้น (Raw Steel Product)" เรียกว่า "เหล็กถลุง (Pig Iron)"และ "เหล็กพรุน (Sponge Iron)" ซึ่งนำมาใช้เป็นวัตถุดิบพื้นฐานในการหลอม (อาจมีการนำเอาเศษเหล็ก หรือ Scrap มาหลอมรวมด้วยกัน) เพื่อผลิต"เหล็กขั้นกลาง (Semi-Finished Steel Products)" ได้ออกมาเป็น "เหล็กแท่งกลม (Billet)", "เหล็กแท่งแบน (Slab)" หรือ "เหล็กแท่งใหญ่ (Bloom Beam)" ซึ่งจะนำไปผลิตเป็นสินค้า "เหล็กขั้นปลาย (Finish Steel Products)" ในรูปแบบต่างๆ ต่อไป ดังนี้
- เหล็กแท่งยาว (Billet) เป็นผลิตภัณฑ์ทรงยาว เช่น เหล็กเส้น, ลวดเหล็ก เป็นต้น
- เหล็กแท่งแบน (Slab) เป็นผลิตภัณฑ์ทรงแบบ เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อนและรีดเย็น
- เหล็กแท่งใหญ่ (Bloom, Beam) เป็นเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ
- เศษเหล็ก (Scrap) ส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์เหล็กหล่อขึ้นรูป
- เหล็กเส้น / เหล็กแผ่น
- เหล็กเส้น เป็นเหล็กที่นิยมใช้ในงานก่อสร้างอาคารต่างๆ เป็นหลัก ถ้าเป็นเหล็กเส้นขนาดเหล็กก็อาจนำมาพันเข้าด้วยกันหลายๆ เส้น 7-19 เส้น เพื่อให้สามารถยึดติดกับวัตถุขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักมากได้ดียิ่งขึ้น
- เหล็กแผ่น เป็นเหล็กที่สามรถนำไปแปรรูปให้มีรูปร่างลักษณะต่างๆ ได้อย่างอิสระ ที่นิยมใช้ในการผลิตหรือสร้างสิ่งต่างๆ หลายอย่าง เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์, รถจักรยานยนต์, บรรจุภัณฑ์, และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
การใช้ประโยชน์จากเหล็กแผ่นหรือการแปรรูปให้เป็นเหล็กรูปพรรณรูปร่างต่างๆ เพื่อให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้มีอยู่ 2 วิธีคือ การรีดร้อนสำหรับการผลิตเหล็กที่ไม่ต้องการสวยงามของผิวเนื้อเหล็กมากนัก เช่นการผลิตถังบรรจุแก๊ส, เครื่องยนต์, อุตสาหกรรมต่อเรือ, เหล็กโครงสร้างของสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ และการรีดเย็น ซึ่งเป็นการนำเหล็กแผ่นรีดร้อนมารีดซ้ำอีกครั้งที่อุณหภูมิห้อง เพื่อให้ได้เหล็กที่มีคุณสมบัติที่ดีขึ้น โดยเฉพาะความยืดหยุ่นที่มากขึ้นและมีผิวเนื้อเหล็กที่เรียบเสมอกันตลอดทั้งชิ้น เช่น งานผลิตตัวถึงรถยนต์, ป้ายโฆษณา, และบรรจุภัณฑ์
ข้อมูลเพิ่มเติม www.kjnmetal.com
อ้างอิงจาก http://united-conbuild.com/shapesteel-info
ข้อมูลเพิ่มเติม www.kjnmetal.com
อ้างอิงจาก http://united-conbuild.com/shapesteel-info
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น